วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความขัดแย้ง

 
                                                ความขัดแย้ง        
 จากสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่าทุกท่านคงทราบดีว่า เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง (Structural Conflict) ที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการใช้อำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interest Conflict) ที่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กัน ประกอบกับความขัดแย้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่มีผู้ที่เกี่ยว ข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายต่างมีความเป็นห่วงกันว่าจะเป็นการทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างหนัก และจะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด การยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีจึงเป็นแนวทางที่กล่าวถึงกันเยอะ

             อย่างไรก็ดีการทำความเข้าใจในพฤติกรรมความขัดแย้ง (Conflict Behavior) จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจรากของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ความขัดแย้งจะเกิดจาก บริบทของความเป็นปัจเจกของบุคคลแต่ละคน และบริบทของโครงสร้าง ดังนั้นการพิจารณาถึงพฤติกรรมความขัดแย้งแย้งนั้นจะต้องพิจารณาถึงทั้งสอง ด้าน เพราะถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งอาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในที่สุด

             สำหรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้นจะเริ่มจากปฏิกิริยาที่ เกิดขึ้นจากการสื่อสารแล้วแสดงออกโต้ตอบกันไปมาจนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (Spiral of Conflict) ที่ต่างคนต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้กัน โดยจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน เอาชนะคะคานกัน หรือ ที่เรียกว่า ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (Destructive Conflict) ส่วนทางออกของความขัดแย้งนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างเลือก ซึ่งพฤติกรรมเพื่อหาทางออกเมือเกิดความขัดแย้งนั้นใน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้จำแนกออกเป็น (หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 180 - 182)

             * การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing or My Way): พฤติกรรมแนวนี้จะยึดถือความพยายามที่จะเอาชนะ มักจะเป็นวิธีการของผู้ที่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น

             * การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding or No Way): เป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกัน

             * การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising or Half War): เป็นวิธีที่ประสานการร่วมมืออย่างหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การเดินสายกลาง

             * การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating or Your Way): เป็นพฤติกรรมที่สังคมชอบปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์สูง มีความต้องการที่จะผลักดันความพยายามของตนเองน้อย ยอมรับแนวความคิดของคนอื่นโดยยกเลิกความต้องการของตนเอง คือ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสิน หรือคำสั่ง

             * การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating or Our Way): เป็นพฤติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหาทางบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

             ส่วนกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งสามารถนำเสนอได้ตามตารางที่ 1 โดยผลของการตัดสินใจที่เป็นลักษณะ ชนะ-ชนะ (Win-Win) จะเกิดจาก การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง และ การเจรจาไกล่เกลี่ย


 
ตารางที่ 1 กระบวนการตัดสินใจแก้ปัญหาข้อพิพาทและผลแห่งการตัดสินใจ
ที่ มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 150

กระบวนการที่ใช้
(Process)
ผู้ตัดสิน
(Decision-Making)
ผลการตัดสินใจ
(Result)
- ใช้ความรุนแรง (Violence/Fight)- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเผชิญหน้าประท้วงอย่างสันติ
(Non-Violence Direct Action or Civil Disobedience)
- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การบัญญัติกฎหมาย (Legislation)- สภานิติบัญญัติ (The Legislature)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การฟ้องร้อง (Litigation)- ศาล (The Court)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน (Arbitration)- อนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การหลีกหนีปัญหา (Avoidance/Fight) -- คงสภาพเดิม (Status quo)


             จากตารางที่ 1 จะพบถ้าคู่พิพาทเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาผลที่ได้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่าย หนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรงจะช่วยยุติความขัดแย้งได้ เช่น การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ฯ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ เพราะต้องการให้สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกยุติโดยเร็ว และลดการสูญเสียนาวิกโยธินของตนเองในการขึ้นยึดเกาะญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงมักจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เช่น ยุทธการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ของสหรัฐ ฯ ที่นำกำลังบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า บินลาดิน และล้มล้างรัฐบาลตอลีบาน ซึ่งสหรัฐ ฯ สามารถล้มล้างตอลีบานได้แต่ ความขัดแย้งยังไม่ได้ยุติ เพราะทุกวันนี้สหรัฐ ฯ ต้องคงกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐ ฯ เองก็ยังมีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ ยุทธการปลดปล่อยชาวอิรัก (Operation Iraqi Freedom) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามอ่าวภาค 2 ที่สหรัฐ ฯ ยุติสงครามลงภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในอิรักตลอดเวลาจนมาถึงทุกวันนี้

             ถึงตรงนี้คงมีคำถามตามมาว่าแล้ว “อะไรคือสันติวิธี” ดร.มาร์ค ตามไท ได้กล่าวถึงสันติวิธีไว้ว่า “สันติวิธีนั้นมีอยู่สองลักษณะคือ สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสันติวิธีในการ แก้ปัญหาความขัดแย้ง” (อ้างถึงในหนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 101 - 103) โดยมีรายละเอียดดังนี้

             * สันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (Peaceful Demonstrate/Protest): แนวทางในการต่อสู้นี้เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ เมื่อ เกิดความไม่พอใจหรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ที่มีอำนาจ มีการดำเนินการในลักษณะของการประท้วง หรือ การเรียกร้อง หรือการต่อสู้โดยการยื่นหนังสือขอเข้าพบ หรือ การชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดย สงบ สันติ ไม่มีอาวุธ การต่อสู้ในแนวทางนี้จะมีชื่อเรียกกันว่า “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางทีมีต้นแบบจากแนวทางการต่อสู่แบบ “อหิงสา” ของ มหาตมคานธี ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย

             * สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Peaceful Conflict Resolution): สำหรับแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาหลักจากที่ความขัดแย้งหรือข้อ พิพาทเกิดขึ้นแล้ว และพยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการใช้แนวทางที่สันติ ซึ่งแนวทางที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) กันเองระหว่างคู่พิพาท หรือ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (เป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) ช่วยในกระบวนการไกล่เกลี่ยและไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินชีขาดแต่จะเป็นผู้กำกับ การเจรจาให้ดำเนินไปได้อันจะนำไปสู่ทางออก คือการยุติความขัดแย้ง

             จากที่กล่าวมาจะพบว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ย และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพราะผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ

             * การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้จะเป็นการเจรจาที่จะเอาแพ้ชนะเอาชนะกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง คู่เจรจาจะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นศัตรูกัน ความเชื่อของการเจรจานี้จะเป็นลักษณะ Zero Sum Game ตามแนวคิดในทฤษฏีเกม (Game Theory) ที่ถ้าไม่แพ้ก็ต้องชนะ ผลของการเจรจาเช่นนี้มักยอมรับครึ่งทาง (Compromise) แต่การเจรจาในลักษณะนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งในนโยบายสาธารณะ

             * การเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ (Interest-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้ไม่มองถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จะมองและทำความเข้าใจของความต้องการ ความห่วงกังวลของฝ่ายอื่น การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดจากคู่เจรจาทุกฝ่ายมาร่วมกัน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันโดยหวังให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการ ตอบสนอง ทุกฝ่ายจะไม่ระบุถึงจุดยืนของตนเอง แต่จะบอกถึง ความหวัง ความต้องการ ความห่วงกังวล ความหวาดระแวง

สำหรับตารางที่ 2 จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก

ตารางที่ 2 แตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก
ที่ มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 174
การเจรจาโดยจุดยืนการเจรจาโดยยึดถือผลประโยชน์เป็นหลัก
- ให้ได้ส่วนแบ่งที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด- ได้ความพึงพอใจจากทุกฝ่าย
- เป็นผลลัพธ์แบบ แพ้-ชนะ- พยายามที่จะทำให้บรรลุต่อความต้องการของทุกฝ่าย
- เกิดความสัมพันธ์แบบปฏิปักษ์- ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง- มองหาจุดที่เห็น หรือมีประโยชน์
- พยายามยามเปิดเผยของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันพยายามที่จะปกปิดของเราและทำให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจผิด- แบ่งปันข้อมูลและช่วยกันสร้างทางเลือกเพื่อให้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
- ผู้มีส่วนเพื่อข้องจะเริ่มต้นที่ การตั้งความต้องการไว้สูง และเปลี่ยนจุดยืนอย่างลังเล- มุ่งผลประโยชน์ร่วมไม่ใช่จุดยืม
- ใช้การคุกคาม ถกเถียงในการให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี- ใช้เหตุผลและประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหา


             การทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งและการยุติด้วยสันติวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยมีการแตกแยกทางความติดอย่างนี้มา ก่อน ดังนั้นถ้าแกนนำของแต่ละฝ่ายมองไปยังผลประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บุคคลทุกภาคส่วนต่างหากคือผู้ที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) นั้นไม่อาจละเลยสิทธิของเสียงส่วนน้อย (Minority Right) ได้ ถ้าทุกคนหันหน้าเข้าหากันแล้วทุกอย่างคงจะดีขึ้น สำหรับผมแล้วผมเชื่อในกฎแห่งกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คงจะช่วยลงโทษคนที่คิดร้ายต่อประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนไทยที่ เกิดบนแผ่นดินไทยแล้วคดโกง คิดมิดีมิร้ายต่อแผ่นดินเกิดแล้ว ผมเชื่อว่าคงมีอันเป็นไปไม่ช้าก็เร็ว……………

ความหลากหลาย

                                     ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เป็นความเชื่อที่ค่อนตรงกันให้หมู่นักมานุษยวิทยาว่ามนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อ ประมาณ 2 ล้านมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน
แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิด ขึ้นตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบน โลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวล มนุษยชาติด้วย นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้
บทอภิปรายนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ประการแรก เช่นเดียวกับความน่าเชื่อของการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ยังคงเป็นสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการทดสอบซึ่ง อาจไม่มีความชอบธรรมทางจรรยาบรรณที่จะอนุรักษ์ "สังคมที่ยังพัฒนาน้อย" ไว้เพราะอาจเป็นการห้ามผู้คนในสังคมนั้นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากความก้าว หน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ที่สร้างความสะดวกสบายและสวัสดิภาพแก่ "สังคมพัฒนาแล้ว" ประการสุดท้าย มีชนหลายหมู่โดยเฉพาะที่หมู่ชนมีความเชื่อทางศาสนาอย่าง แรงกล้า ที่เชื่อว่าศาสนานั้นคือสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตัวบุคคลและมวล มนุษย์โดยรวม ดังนั้นจึงควรมุ่งติดอยู่กับรูปแบบการดำรงชีวิตเพียงแบบเดียวที่หมู่ชนนั้นๆ เห็นว่าถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การสอนศาสนา "ฟันดาเมนทอลลิสต์อีแวนเจลิสต์" เช่น "นิวไทรบ์มิสชัน" ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยการเลือกสังคมชนเผ่าที่ อยู่ห่างไกล จับพวกชนเผ่าเหล่านั้นเข้ารีตกับความเชื่อของพวกเขาเองแล้วโน้มนำให้ชนเผ่า เหล่านั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมของตนเองตามหลักการของพวกเขาเอง
การแจงนับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตัวบ่งชี้ที่นับได้ว่าใช้ได้ดีตัวหนึ่งคือการนับจำนวนภาษาที่ใช้พูดใน ภูมิภาคนั้น หรือในโลกโดยรวม วิธีการนี้ จะช่วยให้มองเห็นระยะของการถดถอยที่รวดเร็วขึ้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ของโลก งานวิจัยที่ทำเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2524-2533) โดยเดวิด คริสทัล (ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ บังกอร์) เสนอแนะในขณะนั้นว่า โดยเฉลี่ยในทุกสองสัปดาห์จะมีภาษาหนึ่งภาษาที่ถูกเลิกใช้ไป คริสทัลคำนวณว่า ถ้าการตายของภาษาอยู่ในอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึง พ.ศ. 2643 ภาษาที่ใช้พูดในโลกปัจจุบันจะสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 90
ประชากรที่มากเกินไป การย้ายถิ่นและจักรวรรดินิยม (ทั้งทางการทหารและเชิงวัฒนธรรม) คือสาเหตุที่นำมาใช้อธิบายการลดถอยของจำนวนภาษาดังกล่าว
มีองค์การนานาชาติหลายองค์การที่กำลังพยายามทำงานเพื่อปกป้องการคุกคาม ดังกล่าวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงหน่วยงาน "สืบชีวิตนานาชาติ" (Survival International) และยูเนสโกได้ ออก "ประกาศสากลยูเนสโกว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) โดยได้รับการยอมรับโดยประเทศสมาชิก 185 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ยอมรับให้มีการกำหนดมาตรฐานนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพิทักษ์ รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทโต้ตอบระหว่างวัฒนธรรม
สหภาพยุโรปให้ การสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายแห่งความป็นเลิศ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่มีความหลากหลาย" (Sustainable Development in a Diverse World -SUS.DIV) SUS.DIV สร้างขึ้นด้วยประกาศยูเนสโกที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาแบบยั่งยืน

ความเป็นธรรมในสังคม

 


                                             ความเป็นธรรมในสังคม                                          มนุษย์เราโดยกำเนิดล้วนแล้วแต่มีใจเป็นธรรมในก้นบึ้งของจิตใจไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต้อง การชีวิตสันติสงบสุข ความเป็นธรรม ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองของเผ่าพันธุ์ ตลอดจนมวลมนุษยชาติ ซื่งเป็นความปรารถนาของมนุษย์มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่กำหนด สภาพความั่นป่วนของมนุษย์ล้วนล้อมรอบเกิดจากปัญหาความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าขอบเขตระหว่างประเทศหรือภายในแว่นแคว้นแตกต่างกันไป ตามสภาพของแต่ละประเทศแต่ละเผ่าพันธุ์
                กล่าวสำหรับสยามประเทศไทยเรา พูดในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ จากหนังสือ  ปฏิบัติการลับ ในสถานการณ์ลึก ของขุนศึกการข่าว ได้มอ่งเบื้องลึกของผู้เขียนที่ต้องการสะท้อน ตั้งแต่ ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา  ในหลวงทรงงานหนัก เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย  สฤษดิ์เองก็ได้จัดพิธีสวนสนามเพื่อถวายความจงรักภักดีของทหารรักษาพระองค์ ขึ้นทุกปีจวบจนปัจจุบัน ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นก็ทุ่มงบทั้งเศรษฐกิจและการทหารต่อประเทศไทยในการเอาชนะคอมมิวนิสต์"  สร้าง ระบอบเผด็จการทหาร ยังความเข้มแข็งต่อระบบอำมาตย์ ค้ำชูราชบัลลังก์ ระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวได้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงภายใต้สภานการณ์เอาชนะคอมมิวนิสต์ มีประสบการณ์อันโชกชน มีความเข้มแข็งทั้งทางการเมืองและกำลังพล ดังที่เราๆท่านๆเห็นในความจริงทีดำรงอยู่

                ประชาธิปไตบแบบไทยๆที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้พัฒนาปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แม้รัฐธรรมนูญปี
2540 ให้อำนาจบริหารกว้างขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาตามที่ได้เห็น จึงต้องกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550  หาก มองในมุมมองซ้ายเก่า ยี่สิบกว่าปีมานี้ นับแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทียึดกุมลัทธิมาร์ก ซื-ลัทธิเลนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง เป็นทฤษฎีชี้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม และความเปลี่ยนแปลงของพรรคพี่น้องในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ได้เกิดคำถามมากมายต่อลัทธิมาร์กซว่าถูกต้องหรือไม่ การต่อสู้ของประชาชนขาดเอกภาพ ขาดการนำที่เข้มแข็ง ขาดทฤษฏีที่เป็นที่ยอมรับในการชี้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้ เกิดปรากฏการณ์แตกแยกทางความคิดกัน คนละขั้ว วิเคราะห์สังคมไทย ไปคนละทาง โต้กันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ส่งผลสะเทือนต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนดังปรากฎในขบวนการเสื้อเหลืองเสื้อ แดง  สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายประชาขนและประเทศชาติโดยรวม
                หากมองในมุมของคนรักความเป็นธรรม  การต่อสู้ของมวลชนเสื้อเหลืองเสื้อแดง มองให้ลึกๆแล้ว พวกท่านทั้งหลายล้วนต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในสังคม ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อดูจากลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงถึงรากถึงโคน ท่านทักษิณก็ประกาศอย่างแจ่มชัดแล้วว่า "ถ้า เมื่อไหร่เกียวพันกับสถาบัน(พระมหากษัตริย์) ผมขวางแน่ ผมขวางแน่และผมจะให้คนเสื้อแดงที่สนับสนุนผมไม่ให้ล่วงเลยได้"ซึ่งได้ให้คำ ตอบแก่แดงเก่าที่หวังอาศัยนายทุนผูกขาดทักษิณ หรือชูทักษิณเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย              ท่าม กลางความสับสนปั่นป่วนทั้งทางทฤษฏีและการเคลื่อนไหวที่แตกเป็นสองขั้ว ในเฉพาะหน้า ท่านที่มีอุดมการณ์ที่จะต่อสู้เพื่อประชาชนไม่ว่าเหลืองหรือแดง  ควรชูการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจึงจะได้รับการสนับสนุนของมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ ท่านทั้งหลายมีความคิดเห็นประการใด ช่วยเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นด้วย เพราะการเมืองที่เป็นอยู่มันเกี่ยวกับเราในชีวิตประจำวันอย่างไม่สามารถแยกออกจากมันได้ 

การพัฒนาอย่างยั่งยืน


                                                                   การพัฒนาอย่างยั่งยืน
            นับวันผลเสียของวิถีการพัฒนาแบบ "สุดโต่ง" ที่เน้นเรื่องอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพียงมิติเดียว โดยไม่สนใจมิติอื่นๆ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งปรากฏให้เราเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในแทบทุกประเทศในโลก เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรโลกบาลหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญ กับแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (sustainable development) มากขึ้นเรื่อยๆ
ในรายงานพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ประจำปี ค.ศ.1996 เครือข่ายเพื่อการพัฒนาระดับโลก แห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือยูเอ็นดีพี) ระบุว่า "คุณภาพ" ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า "อัตรา" การเจริญเติบโตดังกล่าว ยูเอ็นดีพีขยายความว่า แบบแผนการเจริญเติบโตที่ทำความ เสียหายในระยะยาวมีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตที่ไม่สร้างงานให้กับประชากร (rootless growth), การเติบโตที่ทิ้งห่างกระแสประชาธิปไตย (voiceless growth), การเติบโตที่กดทับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจนสิ้นสลาย (rootless growth), การเติบโตที่ทำลาย สิ่งแวดล้อม (futureless growth), และการเติบโตที่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือคนรวยเท่านั้น (ruthless growth)
ยูเอ็นดีพีสรุปว่า การเติบโตทั้ง 5 รูปแบบดังกล่าวนั้นล้วนเป็นการเติบโตที่ "ทั้งไม่ยั่งยืน และไม่สมควรจะยั่งยืน"
แนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ วัฒนธรรมมากมายในประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งวัฒนธรรม ชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้มองเห็นความจำเป็นของการสร้าง ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง "ใหม่" ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความพยายามที่จะนิยาม สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ และแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ในบริบทของสังคมอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารระดับโลก
เราอาจสาวรากของแนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปถึงหนังสือเรื่อง "Silent Spring" (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) โดย Rachel Carson ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1962 ตีแผ่ผลกระทบของยาฆ่าแมลง ที่เรียกว่า DDT ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอเมริกันอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การประกาศแบน DDT ในปี 1972 นักสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ยกย่อง Silent Spring ว่าเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้คนจำนวนมาก หันมาตระหนักถึงความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" หมายความว่าอะไร และมีลักษณะอย่างไร ? วันนี้ผู้เขียนจะเก็บข้อความจากเนื้อหาในเว็บไซต์ Sustainability Development Gateway (SD Gateway-http://sdgateway.net/) มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ :
"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" สำหรับแต่ละคนย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน เนื่องเพราะ "ระยะยาว" ของแต่ละคน อาจยาวสั้นแตกต่างกัน แต่นิยามที่คนนิยมอ้างอิงมากที่สุดมาจากรายงานชื่อ "อนาคตร่วมของเรา" (Our Common Future หรือที่รู้จักในชื่อ "รายงานบรุนด์ท์แลนด์" -the Brundtland Report) โดยรายงานดังกล่าว ระบุว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงวิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลัง ในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา"
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของประชากรโลก ในทางที่ไม่เพิ่มระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินศักยภาพของธรรมชาติ ที่จะผลิตมันให้มนุษย์ใช้อย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจว่า การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยมีผลกระทบ และเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันและพฤติกรรมของปัจเจกชน
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้า ไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในปี 1992 ผู้นำนานาชาติที่มาพบกันในการประชุมสุดยอดแห่งโลก (Earth Summit) ในกรุงริโอ เดอ จาเนโรในบราซิล นำเค้าโครงของรายงานบรุนด์ท์แลนด์ไปสร้างสนธิสัญญาและแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ผู้เข้าประชุมยังได้ร่วมกันร่างแผนกลยุทธ์กว้างๆ เรียกว่า "Agenda 21" เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับงานด้าน สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในอนาคต หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็มีกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก ที่นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปตีความ ต่อยอด และปรับใช้ในบริบทของตัวเอง จวบจนปัจจุบัน และยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นแนวคิดลื่นไหลที่วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ก็มีลักษณะสำคัญบางประการที่อยู่ภายใต้ เส้นความคิดหลายกระแส ได้แก่
1) ความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness) เป็นประเด็นสำคัญ การพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากตอบสนองความต้องการของคนจนและประชากรผู้ด้อยโอกาส ไอเดียเรื่องความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยามของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพราะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราละเลยผลกระทบจากการกระทำ ของเราต่อคนอื่นในโลกที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเองในอนาคตด้วย
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะของเราส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ ความยุติธรรมหมายความว่า ประเทศแต่ละประเทศ ควรมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมของตัวเอง โดยไม่ปฏิเสธว่าประเทศอื่นๆ ก็ล้วนมีสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน หนึ่งในความท้าทาย ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ เราจะปกป้องสิทธิของคนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้อย่างไร คนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดไม่สามารถออกความเห็น หรือปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของคนรุ่นปัจจุบัน ถ้าการพัฒนาจะยั่งยืนได้จริง เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย
2) มีมุมมองระยะยาว (long-term view) ภายใต้หลักความรอบคอบ (precautionary principle) "ระยะยาว" ยาวแค่ไหน ? ในสังคมตะวันตกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การวางแผนของภาครัฐมองระยะเวลาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น ปัจจุบัน "ระยะยาว" ในความหมายของ นักค้าหุ้นและนักค้าเงินคือระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาวางแผนสำหรับ "คนรุ่นที่ 7 นับจากนี้" พวกเขาวางแผนเป้าหมายและกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังอีกเจ็ดชั่วคน เท่ากับว่าวางแผนล่วงหน้าถึง 150 ปีทีเดียว สำหรับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่า ตราบใดที่คนรุ่นหนึ่งคิดถึงคนรุ่นต่อไป (ประมาณ 50 ปี) ก็แปลว่าคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล แน่นอนถ้าเรามองเห็นว่าเรื่องใดก็ตาม จะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตที่ไกลกว่านั้น เราก็ควรจะวางแผนให้ยาวขึ้น ไม่มีคนรุ่นไหนสามารถการันตีผลลัพธ์ในอนาคตที่พยากรณ์ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีคนรุ่นไหน ที่ควรทำเป็นมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่พยากรณ์ได้
ในโลกที่เรารู้แล้วว่าทุกมิติมีความเกี่ยวโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเพียงใด ปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกำลังเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงและการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ หลักความรอบคอบช่วยแนะแนวให้เราได้ หลักการ ชุดนี้บอกว่า เมื่อกิจกรรมใดๆ ก็ตามเพิ่มขีดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพมนุษย์ เราควรต้องใช้มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผลได้ทั้งหมด
3) การคิดแบบเป็นระบบ (systems thinking) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นเวลานานกว่า 2 ศตวรรษแล้วที่เรารู้ว่า โลกนี้เป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรจำกัด เมื่อนักสำรวจทำงานสำรวจผิวดิน และพื้นน้ำสำเร็จลง คนก็ค่อยๆ เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีทรัพยากร "ใหม่" เรามีโลกเพียงใบเดียว กิจกรรมทั้งหมดของเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของระบบธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่งกว่า เราต้องมองเห็นว่าระบบที่เดินด้วยน้ำมือมนุษย์ทั้งหมดนั้นอยู่ภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ก่อนที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน กับสิ่งแวดล้อม และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ จะอยู่รอดต่อไปในอนาคต
ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ ไม้ เหล็ก ฟอสฟอรัส น้ำมัน และทรัพยากรอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด ล้วนมีขีดจำกัดทั้งในแง่ของแหล่งที่มาและแหล่งที่ไป (sink) แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบอกเราว่า เราไม่ควรนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในอัตราที่เร็วกว่าความสามารถของเราในการผลิตทรัพยากรทดแทน และเราก็ไม่ควรทิ้งทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถดูดซับมันกลับเข้าไปในระบบ ถึงแม้ว่าปัญหาทรัพยากรร่อยหรอจะเป็นประเด็นกังวลหลักของนักสิ่งแวด ล้อมในอดีต วันนี้นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ เป็นกังวลเรื่องที่เราจะไม่เหลือแหล่งทิ้งทรัพยากรแล้วมากกว่า ปัญหาโลกร้อน รูในชั้นโอโซน และความขัดแย้งเรื่องการ ส่งออกขยะอันตราย ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราพยายามทิ้งทรัพยากร เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้
การคิดแบบเป็นระบบผลักดันให้เราเข้าใจว่า ถึงแม้โลกจะมีเพียงใบเดียว มันก็เป็นโลกที่ประกอบด้วยระบบย่อย (sub systems) มากมายที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน ปัจจุบันการพัฒนาโมเดลต่างๆ เพื่ออธิบายระบบย่อยเหล่านี้ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โมเดลเหล่านี้เป็นกรอบคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับการเลือกดัชนีชี้วัดความคืบหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ระบบย่อยต่างๆ ในโลกล้วนเชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า "ห่วงโซ่ตอบกลับ" (feedback loop) อันสลับซับซ้อน วิทยาศาสตร์แขนงใหม่ที่ศึกษาความซับซ้อนของระบบต่างๆ บอกเราว่า ในระบบบางระบบ เหตุการณ์เล็กมากๆ อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ที่รุนแรงและพยากรณ์ไม่ได้ล่วงหน้า ด้วยการ จุดชนวนซีรีส์เหตุการณ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการปล่อยมลพิษในซีกโลกเหนือส่งผลให้ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาบางลง และเร่งอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในซีกโลกใต้ วิกฤตการเงินในเอเชียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และสงครามระหว่างชาติพันธุ์ในทวีปแอฟริกากลางก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ของประชากรไปยังบริเวณใกล้เคียง สร้างแรงตึงเครียดต่อระบบในประเทศเหล่านั้นจนถึงจุดแตกหัก เป็นชนวนให้เกิดวิกฤตและการอพยพต่อไปเป็นทอดๆ
ตั้งแต่ผู้นำโลกที่ร่วมประชุม Earth Summit ประจำปี 1992 ตกลงกันว่าจะร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา แนวคิดนี้คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด มีกรณีใดบ้างเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และมีกรณีใดบ้างที่ต้องนับว่าเป็นความล้มเหลว ?

การพึ่งพาอาศัยกัน

การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

            การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ได้แก่ ความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันของผู้คน ถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจสภาวการณ์ในระดับโลก สามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับความซับซ้อนได้

การพึ่งพากัน 

            การ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆในด้านการรวมตัวเป็นองค์กรความร่วม มือทางเศรษฐกิจก็ เนื่องมาจากความมั่นคงและสวัสดิการของประเทศ ซึ่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นภาคธุรกิจหรือ ผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้น เมื่อกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ย่อมทำให้ สินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการค้า มักจะถือกันว่าเป็นรูปแบบ ของกระบวนการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนของการค้าต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวมากขึ้นย่อมหมายถึงประเทศนั้น มีการพึ่งพิงระบบการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศต้องอาศัยการพึ่งพากันทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ 



             ตลอด จนมีการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในองค์กรได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้ เช่น ความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว และได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในด้าน การพึ่งพาอาศัยกัน เช่น แต่ละประเทศจะผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่ประเทศตนเอง สามารถผลิตได้ กล่าวคือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและ มาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแต่ละประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย ดังนั้นการพึ่งพาอาศัยกันในรูปของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และองค์กรที่มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองทางการค้ากับประเทศต่างๆได้

การอยู่ร่วมกันในสังคม            การ อยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

            ชาว บ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี


            ใน ชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ


สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น


            จะ เก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ 


ด้วย วิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"


            ทั้ง นี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน

ความยุติธรรม





                             ความยุติธรรม

                     ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เราแสวงหาและต้อง     การความยุติธรรม
                     ความยุติธรรม คืออะไร อันนี้ตอบยาก
                     ความยุติธรรมกับความเสมอภาค ไม่เหมือนกัน
        ความยุติธรรม ต้องให้คนได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ถ้าเขาควรได้รับรางวัลก็ให้รางวัล ถ้าเขาควรได้รับโทษ ก็ให้ได้รับโทษ นี่เรียกว่าความยุติธรรม

ความยุติธรรมจริงๆนั้นคืออะไร ส่วนมากใครที่ได้รับผลประโยชน์ คนนั้นก็ว่ายุติธรรม คนเสียประโยชน์เขาก็ว่าไม่ยุติธรรม ถ้าอย่างนั้น ความยุติธรรมจริงๆคืออะไร บอกไปนิดหนึ่งแล้วว่า ในภาคปฏิบัติ ต้องให้เขาได้รับสิ่งที่ควรได้รับ ถ้าเขาควรได้รับรางวัลก็ให้เขารับรางวัล ถ้าเขาควรได้รับโทษ ต้องให้เขาได้รับโทษ


บางคนบอกว่าความยุติธรรมจริงๆไม่มี หรือมี แต่ไม่รู้อะไร ความยุติธรรมเป็นสากล เป็นจริงในตัวเอง หรือว่าไม่เป็นสากล ไม่เป็นจริงในตัวเอง หรือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ มันเป็นสิ่งที่แล้วแต่ใครเป็นคนตัดสิน

มนุษย์เราโดยปกติ โดยทั่วไปมีอคติ เข้าข้างตัวเองบ้าง เข้าข้างพวกพ้องของตัวเองบ้าง ทั้งยังเกลียดชังผู้อื่นและพวกอื่น
อคตินี่แหละทำให้เสียความยุติธรรม
ฉันทาคติ  พอใจลำเอียงเพราะพอใจบ้าง
โทสาคติ   ลำเอียงเพราะไม่ชอบบ้าง
โมหาคติ   ลำเอียงเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่ก็กระทำไปตามที่ไม่รู้เรื่อง
โมหาคติ ตามตัวแปลว่าลำเอียงเพราะหลง หลงเข้าใจผิด คือไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้มันเป็นอย่างไร แล้วก็ทำไปเหมือนกับรู้
ภยาคติ     ลำเอียงเพราะความกลัว ถ้ามีอคติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ความยุติธรรมหายไป หาได้ยาก

เรื่องที่มนุษย์ตัดสินว่าผิด ถูก ดี หรือชั่ว แน่นอนคือไม่แน่นอน หรือว่าไม่แน่นอนเสมอไป เชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้ ความรู้สึกว่าพวกเราหรือพวกเขา มันจะมาเป็นกำแพงกั้นความยุติธรรม คือปิดบังดวงปัญญา ทำให้ผู้รู้ทำอะไรอย่างคนโง่ และทำให้ผู้มีอำนาจลงโทษคนที่ไม่ผิด ทำให้อาจารย์ทำร้ายลูกศิษย์ เช่น อาจารย์ขององคุลิมาล ยืมมือคนอื่นประทุษร้าย เพราะโมหาคติ และภยาคติของตน ทำให้อาจารย์ผู้สอนธรรม กลายเป็นผู้ไร้เสียซึ่งความยุติธรรม


ความโง่เขลาเบาปัญญาเพราะอคติ ตามที่กล่าวนี้ทำให้ผู้ครองนคร กลายเป็นฆาตกร ตัวอย่างเช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล ในสมัยพุทธกาลวางแผนฆ่าพันธุลเสนาบดี พร้อมด้วยบุตรจำนวนมาก ผู้ไม่มีความผิดเลยแม้แต่น้อยนี้เรื่องยาว ยกมา พอเห็นตัวอย่าง


ความยุติธรรมตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือว่าเชื่อถือได้ที่สุด เช่น การประพฤติผิดต่อธรรมชาติของร่างกายภายนอก ก็ได้รับผลตอบแทนมา เช่น กินของเผ็ดเข้าไป มันก็ร้อนกระเพาะ กินของเปรี้ยวจัด มันก็แสบกระเพาะ มันเป็นความยุติธรรมสากล


ความยุติธรรมนี้อยู่ที่ใด พูดถึงความยุติธรรมประดิษฐ์นะครับก็อยู่ที่คน ถ้าเป็นความยุติธรรมที่คนตั้งขึ้น มันก็อยู่ที่คน ถ้าคนมีธรรม ความยุติธรรมก็มี ถ้าคนไม่มีธรรม ความยุติธรรมก็ไม่มี


เราจะขอความเป็นธรรมจากคนไม่มีธรรม เขาจะเอาที่ไหนให้ เพราะว่าเขาไม่มีธรรม เหมือนกับเราไปคั้นเม็ดทรายเพื่อจะเอาน้ำมัน เม็ดทรายมันไม่มีน้ำมัน เราไปคั้นให้ตาย น้ำมันมันก็ไม่ออกมา เราไปรีดเขาโคเพื่อจะได้น้ำนมโค ก็เหนื่อยแรงเปล่า เพราะที่เขามันไม่มี


เพราะฉะนั้น ความยุติธรรม มันก็อยู่ที่คนถ้าคนมีธรรม ฉะนั้นถ้าเราต้องการความยุติธรรม เราก็ต้องพยายามฝึกให้คนมีธรรม ถ้าคนไม่มีธรรม มันก็ไม่ยุติธรรม จะเอาที่ไหนมาให้


ปัญหาหนึ่งว่า ถ้าความยุติธรรมมาเผชิญหน้ากับเมตตากรุณา ถ้ามันสอดคล้องกันไปได้ ไม่ขัดแย้งกัน มีความยุติธรรมด้วย ไม่เสียเมตตากรุณาด้วย ได้เมตตากรุณาด้วย ได้ความยุติธรรมด้วย อย่างนั้นก็ดี ไม่มีปัญหา


แต่ถ้าเกิดขัดแย้งกันขึ้นระหว่างเมตตากรุณา กับความยุติธรรมเราจะเอาอะไรไว้และทิ้งอะไรไป เช่น ถ้าเผื่อประพฤติเมตตากรุณา ก็จะเสียความยุติธรรม ถ้าดำรงอยู่ในความยุติธรรม ก็จะเสียเมตตากรุณา ต้องยอมขาดเมตตากรุณา จะเอาอะไรไว้จะทิ้งอะไรไป เช่น


ครูกับนักเรียน ถ้าบอกข้อสอบกับนักเรียนบางคน เมตตากรุณากับนักเรียนคนนั้น กลัวเขาจะสอบตก แล้วเขาจะลำบาก ก็บอกข้อสอบเขาไป หรือตรวจข้อสอบให้เขาได้คะแนนดี ทั้งที่เขาทำไม่ได้ อย่างนี้แม้จะสำรวจใจแล้ว ว่ามีเมตตากรุณา แต่ว่ามันเสียความยุติธรรม


ท่านผู้รู้ท่านให้เอาอะไรไว้ก่อน เพราะเหตุไร ในกรณีที่คุณธรรม 2 อย่าง มาเผชิญหน้ากันและขัดแย้งกัน จำเป็นต้องทิ้งอย่างหนึ่งเอาไว้อย่างหนึ่ง ดูตัวอย่างเปาบุ้นจิ้นเป็นตัวอย่างที่ดี ท่านต้องดำรงรักษาความยุติธรรมเอาไว้ ดูเหมือนจะขาดเมตตากรุณา แต่ความจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องดำรงความยุติธรรมเอาไว้ เพราะว่าความยุติธรรมเป็นหน้าที่โดยตรงของคนทุกคน

เมตตากรุณา เป็นคุณธรรมเหมือนกัน แต่เมื่อมาพร้อมกันเป็นหน้าที่โดยอ้อม แต่ถ้าทำได้ เราประพฤติความยุติธรรม โดยไม่ให้เสียความเมตตากรุณา

แต่ถ้าประพฤติความเมตตากรุณาอย่าให้เสียความยุติธรรม ถ้าให้เสียความยุติธรรมแล้ว  
มันจะเสียไปหมดหลายอย่าง

ที่จริงเราสามารถจะผดุงความยุติธรรมไว้ได้ ด้วยเมตตากรุณานั่นเอง เช่น เราลงโทษคนเพื่อรักษาความยุติธรรม แล้วก็เป็นการเมตตากรุณาบุคคลผู้นั้นไปด้วย
เพื่อไม่ให้เขาทำผิดยิ่งไปกว่านั้น อันนี้ขอให้ทำความเข้าใจให้ดี

ในปรัชญากรีก มีนักปราชญ์คนหนึ่งของกรีกชื่อ ยูไทโฟ เป็นเพื่อนของโสเครติส ฟ้องบิดาของตนในฐานะที่ฆ่าคนใช้ในบ้านตาย โดยการมัดแล้วผลักลงคู คนนี้ก็จมน้ำตายอยู่ในคูนั้นเอง

คนใช้คนนี้ทะเลาะกับเพื่อนคนใช้ด้วยกัน แล้วฆ่าเพื่อนตาย เจ้าของบ้านรู้เข้าก็เลยจับมัดแล้วก็ผลักลงคู ไม่เอาใจใส่ ไม่ดูแล คนนี้ก็เลยตาย


ยูไทโฟไปศาลเพื่อฟ้อง ก็ไปเจอโสเครติส โสเครติส ถูกข้อหาว่าทำเด็กหนุ่มให้เสีย ด้วยคำสอนที่ล้ำหน้าเกินไป เขาคุยกันระหว่างยูไทโฟกับยูเครติส เรื่องความยุติธรรม ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ สุทธิธรรม อสุทธิธรรม อะไรบริสุทธิ์ อะไรไม่บริสุทธิ์


ในกรณีของยูไทโฟนี้ ถามว่าเขาควรทำหรือไม่ควรทำ เขาอ้างว่าเขาทำเพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ให้บิดาเขาฆ่าคนตายโดยไม่มีความผิด


ท่านผู้ฟังก็ลองเอาไปคิดดูเป็นอาหารสมอง ทำนองนั้นจะช่วยหรือจะฟ้อง มันเป็นปัญหาที่ขัดแย้งกัน ระหว่างเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที กับความยุติธรรม เมื่อมันมาเผชิญหน้ากันเข้า


สำหรับเรื่องความยุติธรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราจะรักษาสัจจะ ก็ต้องรักษาสัจจะที่เป็นประโยชน์ และยุติธรรม ที่นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า สจฺเจ อตเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา ....ท่านสัตบุรุษกล่าวว่า สัตบุรุษทั้งหลายดำรงอยู่ในสัจจะที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมคือยุติธรรม แม้จะเป็นความจริง


แต่ความจริงนั้นต้องเป็นประโยชน์และยุติธรรม จึงจะพูดได้หรือทำได้ รักษาได้


ทุกคนชอบความยุติธรรม แต่ว่าน้อยคนนักที่จะดำรงอยู่ในความยุติธรรมโดยสม่ำเสมอ โดยถูกต้อง เพราะว่าใจมันไม่เป็นธรรม

สิทธิมนุษยชล

สิทธิมนุษยชน

        สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีโดยเสมอภาคกัน เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่าง มีศักดิ์ศรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่าง เต็มที่และสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิดและเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้น ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ
        สิทธิมนุษยชน หมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า มนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากล ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ
        จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"[1]
        ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมือง ร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

                   สิทธิมนุษยชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ


     กล่าวนำ

        ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ในฐานะ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิ-มนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเงื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิก ที่ร่วมองค์กรและสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง, การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น

             บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ บังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๑ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา ๒๕๖ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๕๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทย เป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการ กระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
(๒) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วย รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
(๔) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจาก ผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๕) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และ กฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๖) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
(๗) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
(๘) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
(๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

                        สิทธิมนุษยชน คืออะไร

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
(๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
        ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)
        คนเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)
        รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่
(๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”
(๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ”
(๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

                   สิทธิมนุษยชนกับทหาร

        ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่าง วันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จริงของ เหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ
        ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีใน หลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของ รัฐ ฯลฯ

                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีคุณสมบัติดังนี้

        มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ประธานคณะกรรมการ
๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

         มาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
        เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน
        เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และ ประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ “โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ( ม.๕ ) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรง ตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)

                            การดำเนินงานของคณะกรรมการ

๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มี การฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)
๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดย ผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะ กรรมการกำหนด (ม.๒๓)
๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)
๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้น
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น

                     ความเข้าใจเบื้องต้นในสิทธิมนุษยชน

        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความ สำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่า นี้ และด้วยมาตรการที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากล และได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว
        ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
        ข้อ 2บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใด ๆ เช่นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด
        นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการ เมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกสารอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด         ข้อ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและความมั่นคงแห่งร่างกาย
        ข้อ 4 บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใด ๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ
        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น จะกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่กล่าวไว้ใน หลักการในการประกาศปฏิญญาสากล และปฏิญญากลในข้อ 1- ข้อ 4 เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข
        สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมนั้นมีที่มาจากการเคารพซึ่งกันและกัน การใช้สิทธินั้น เราใช้ได้เท่าที่ไม่ไปละเมิดในสิทธิของผู้อื่น เช่น เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต
        สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ของศักดิ์และ สิทธิ์ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว อายุ ศาสนา ภาษา และสถานภาพ ทางกายภาพและสุขภาพ รวมทั้งความเชื่อทางสังคม การเมือง ชาติกำเนิดเหล่านี้ คือสิทธิที่มีมาแต่กำนิด ไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น
        สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะอารยธรรมโลก นับเป็นความฉลาดของมนุษย์ที่พยายามวางระบบคิดเพื่อให้คนทั้งโลกเกิดความ ตระหนักรู้และคิดคำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นับแต่ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด รวมทั้งระบบสิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิโดยกำเนิด สิทธิตั้งแต่เกิด การให้ความสำคัญกับคำว่า ชีวิต ว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายล้วนต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น นับแต่ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วยอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม การดำรงเผ่าพันธุ์ การมีชีวิตรอด ฯลฯ ความต้องการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญกับชีวิตเป็นที่สุด และเหมือนกันทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวหากเป็นความชอบธรรมของมนุษย์ก็คือ สิทธิมนุษยชน ทั้ง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับธรรมชาติ และแม้แต่กับสัตว์ การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอยู่เสมอ เหล่านี้นับเป็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่สังคมโลกต่างให้ความตระหนัก การคำนึงถึงสิทธิดังกล่าว จะถือเป็นบันไดก้าวไปสู่ความยุติธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

สรุป

        รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ ดำเนินคดีได้

ค่านิยมและการรับรู้

ค่านิยมและการสัมผัสรับรู้ (Values & Perceptions)

            ค่านิยม (Value) ความหมายทางด้านการบริหาร หมายถึง เป็นความเชื่อทีถาวรเกี่ยวกับสิ่งซึ่งเหมาะสม และไม่ใช่สิ่งซึ่งแนะนำพฤติกรรมของพนักงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ค่านิยมอาจอยู่ในรูปของการกำหนดความคิดเห็น (Ideology) และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในแต่ละวัน

ประเภทของค่านิยม
Phenix ใช้หลักความสนใจและความปรารถนาของบุคคลแบ่งค่านิยมออกเป็น 6 ประเภท คือ
1. ค่านิยมทางสังคม (Social Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้เกิดความรักความเข้าใจและ ความต้องการของอารมณ์ของบุคคล
2. ค่านิยมทางวัตถุ (Material Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้ชีวิตร่างกายของคนเรา สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป ได้แก่ ปัจจัยสี่ คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค
3. ค่านิยมทางความจริง (Truth Values) เป็นค่านิยมเกี่ยวกับความจริงซึ่งเป็นค่านิยมที่ สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความรู้ และนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหากฎของธรรมชาติ
4. ค่านิยมทางจริยธรรม (Moral Values) เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบชั่วดี
5. ค่านิยมทางสุนทรียะ (Aesthetic Values) เป็นความซาบซึ้งใจในความดีและความงาม ของสิ่งต่างๆ
6. ค่านิยมทางศาสนา (Religious Values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวกับความปรารถนาความ
สมบูรณ์ ของชีวิต รวมทั้งความศรัทธา และการบูชาในทางศาสนาด้วย จากประเภทต่างๆ ของค่านิยมข้างต้น ค่านิยมความรัก คู่ครอง และการแต่งงาน ที่ศึกษาใน การวิจัยครั้งนี้เป็นค่านิยมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางสังคมวัย รุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมทางสังคมและทางจริยธรรม

หน้าที่ของค่านิยม
สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ กล่าวถึง หน้าที่ของค่านิยม 7 อย่างไว้ดังนี้
a.ค่านิยมจูง (Lead) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลได้แสดงจุดยืนของตนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสังคมออกมาอย่างชัดเจน
b.ค่านิยมเป็นตัวช่วยกำหนด (Predispose) ให้บุคคลนิยมอุดมการณ์ทางการเมืองบางอุดมการณ์มากกว่าอุดมการณ์อื่น
c.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ช่วยนำ (Guide) การกระทำให้ทำบุคคลประพฤติ และแสดงตัวต่อผู้อื่นที่ประพฤติเป็นปกติอยู่ทุกวัน
d.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ในการประเมิน (Evaluate) ตัดสินการชื่นชมยกย่อง การตำหนิ ติเตียนตัวเอง และการกระทำของผู้อื่น
e.ค่านิยมเป็นจุดกลางของการศึกษา กระบวนการเปรียบเทียบกับผู้อื่น
f.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้ในการชักชวน (Persuade) หรือสร้างประสิทธิผลต่อคนอื่น
g.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้เป็นฐาน (Base) สำหรับกระบวนการให้เหตุผลต่อความนึกคิด และการกระทำของตน


            การรับรู้ คือ การตีความหรือแปลความหมายข้อมูล (กระแสประสาท) จากการสัมผัส ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่มาสัมผัสนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ในการตีความหรือแปลความหมายนี้ต้องอาศัยการจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้า ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมา อารมณ์ และแรงจูงใจ เช่น เรามองเห็นจุดดำ ๆ จุดหนึ่งอยู่ลิบ ๆ บนท้องฟ้า (การสัมผัส) เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต่อเมื่อจุด ๆ นั้นเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ จนมองเห็นชัด เราจึงรู้ว่าที่แท้จริง ก็คือนกตัวหนึ่ง (การรับรู้) นั่นเอง หรือถ้าเราเห็นรูป เราจะรับรู้ทันทีว่า คือรูป สี่เหลี่ยม ( ) เพราะเราจัดหมวดหมู่โดยพิจารณาถึงรูปที่สมบูรณ์ของ นั่นเอง การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้ามีหลายลักษณะเช่น จัดโดยอาศัยความคล้ายคลึงกัน จัดโดยอาศัยความต่อเนื่อง เป็นต้น การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้านี้ช่วยให้เราแปลความหมาย (รับรู้) ได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น การรับรู้ของคนเรามีหลายชนิด ดังต่อไปนี้

            1. การได้ยิน เราสัมผัสคลื่นเสียงทางหูแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้น จนรับรู้ว่าเป็นเสียงอะไร และเรายังสามารถบอกตำแหน่งทิศทางและระยะทางของแหล่งกำเนิดเสียงได้อีกด้วย

            2. การมองเห็น เราสัมผัสคลื่นแสงจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางนัยน์ตาแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้าที่ เห็นนั้นคืออะไร

            3. การได้กลิ่น เราสัมผัสโมเลกุลของไอที่ระเหยมาจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางจมูกแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร เหม็น หอม เน่า หรือ กลิ่นเครื่องเทศ

            4. การรู้รส เราสัมผัสสิ่งเร้าบางอย่างโดยลิ้น แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้านั้นมีรสอะไร หวาน เค็ม หรือขม เป็นต้น

            5. การรับรู้ทางผิวกาย เราสัมผัสสิ่งเร้าที่มากระตุ้นผิวกาย แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้เราว่าสัมผัสอะไร นอกจากนี้ยังรู้ถึงอุณหภูมิและความเจ็บปวดที่เกิดจากการสัมผัสอีกด้วย

            6. การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกาย ได้แก่การรับรู้ตำแหน่งหรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ข้างต้น เช่น ถึงแม้หลับตาเราก็สามารถตักอาหารใส่ปากได้ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเรารับรู้ว่าปาก แขน มือ ฯลฯ ของเราอยู่ตำแหน่งใดเราจึงทำเช่นนั้นได้ การรับรู้นี้เกิดจากการแปลความหมายของสภาวะกล้ามเนื้อ เอ็น หรือข้อต่อต่าง ๆ ขณะยืดตัว หดตัวหรือคลายตัว เป็นสำคัญ การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกายอีกชนิดหนึ่ง คือการทรงตัว ทำให้เราทราบว่าร่างกายเรากำลังอยู่ท่าไหนอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลหรือไม่ ถ้าไม่ก็พยายามปรับเข้าสู่สมดุลต่อไป มิฉะนั้นจะรู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรืออาเจียนได้